รู้จัก ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) คืออะไร ? มีประโยชน์อะไรบ้าง ?

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) อีกหนึ่งสารสำคัญที่มีอยู่ในร่างกายของเรา ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยเซลล์ในร่างกายของเราเอง สารสำคัญนี้มีคุณสมบัติที่เป็นที่ยอมรับในการช่วยบำรุงผิวหนัง และปรับปรุงความชุ่มชื้นให้กับผิวอย่างมหาศาล ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่น ไฮยาลูรอนจึงได้รับความนิยมในวงการดูแลผิวหนังอย่างกว้างขวาง ซึ่งไม่เพียงแค่ใช้ในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว แต่ยังมีการนำมาใช้ในการรักษาอาการผิวขาดความชุ่มชื้นหรือผิวอักเสบได้ด้วย โดยบทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) นี้ให้มากยิ่งขึ้น ถ้าแท้จริงแล้วทำงานอย่างไร? มีแต่ประโยชน์อย่างเดียวใช่ไหม?

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid)

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) คืออะไร ?

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) หรือเรียกสั้นๆ ว่า HA คือ สารธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่ภายในร่างกาย ถูกผลิตขึ้นที่บริเวณผิวหนังชั้นใน ซึ่งมีจำนวนมากในเนื้อเยื่อระหว่างเซลล์ และทำหน้าที่ยึดจับโปรตีนคอลลาเจนเข้าไว้ด้วยกัน โดยสารชนิดนี้มีคุณสมบัติพิเศษเป็นสารอุ้มน้ำ สามารถอุ้มน้ำได้มากกว่าน้ำหนักตัวถึง 1,000 เท่า ช่วยให้ผิวหนังสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี ส่งผลให้ผิวหนังดูชุ่มชื้นและเต่งตึง นอกจากนี้ สาร HA ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระดูกอ่อนตามข้อต่อของร่างกาย เนื่องจากสารตัวนี้จะช่วยหล่อลื่นข้อต่อไม่ให้เกิดการเสียดสี และป้องกันการสึกหรอของกระดูกข้อต่อ

ไฮยาลูรอนนิก เป็นโมเลกุลของน้ำตาลชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า “polysaccharid” ซึ่งจะมีอยู่ในเนื้อเยื่อของร่างกาย อาทิเช่น ตรงผิวหนัง ตรงข้อต่อ และตรงดวงตา  และร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เองตามธรรมชาติ แต่เมื่อคนเรามีอายุที่เพิ่มมากขึ้นร่างกายจะมีการผลิตสาร Hyaluronic Acid (HA) และคอลลาเจนน้อยลง โดยเฉลี่ยผิวหนังของคนเราจะเริ่มเสื่อมลงเมื่อมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ผิวหนังจะเริ่มขาดความชุ่มชื้น ผิวมีความแห้ง ผิวมีความบางลง และผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้ผิวหนังเกิดริ้วรอยร่องลึก ผิวหนังดูแห้งกร้าน และผิวหนังเกิดความหย่อนคล้อย เป็นต้น ดังนั้นทางการแพทย์จึงได้ทำการสังเคราะห์สารไฮยาลูรอนนิกขึ้นมาเพื่อทดแทนสาร HA ที่ร่างกายสร้างขึ้นมา

การทำงานของไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid)

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เป็นโมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนคล้ายกับสายโซ่ยาว ประกอบด้วยหน่วยย่อยหลายหน่วยเชื่อมต่อกันจนกลายเป็นสารประกอบโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีมวลโมเลกุลสูงซึ่งเรียกว่าพอลิเมอร์ (Polymer) สายโซ่เหล่านี้จะดึงดูดโมเลกุลน้ำเข้าหากัน ทำให้สารไฮยาลูรอนสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึงครึ่งแกลลอนต่อกรัม จึงกลายเป็นพอลิเมอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูดซับน้ำ ไฮยาลูรอนยังเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญในวงการเสริมความงาม เช่น การฉีดฟิลเลอร์ และเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (Skincare) หลายๆ ผลิตภัณฑ์

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) ช่วยอะไร ?

สารไฮยาลูรอน ช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่อง ดังต่อไปนี้

  • ลดริ้วรอย: เนื่องจากสาร HA มีคุณสมบัติช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง และช่วยพยุงโครงสร้างผิวหนัง เมื่อผิวหนังมีสารไฮยาลูรอนเพียงพอ ริ้วรอยร่องลึกบนใบหน้าจะดูตื้นขึ้น ช่วยให้รูปหน้าดูได้สัดส่วน นอกจากนี้ยังช่วยให้ผิวเรียบเนียนและยืดหยุ่นมากขึ้น
  • เติมความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง: อย่างที่ทราบกันดีว่าสาร HA มีคุณสมบัติช่วยดูดซับและกักเก็บน้ำให้กับผิวหนัง ส่งผลให้ผิวมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น แข็งแรง และไม่แห้งกร้าน
  • กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและอีลาสติน: กรดไฮยาลูรอนิก (HA) ช่วยกระตุ้นให้ผิวหนังสร้างคอลลาเจนและอีลาสตินใหม่ ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญที่ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น แข็งแรง และลดริ้วรอย
  • รักษาโรคข้อเสื่อม: ตามธรรมชาติ ร่างกายจะผลิตกรดไฮยาลูรอนิกเพื่อหล่อลื่นข้อต่อและลดแรงกระแทก เมื่อกรดไฮยาลูรอนิกในข้อต่อลดลง กระดูกจะเสียดสีกัน ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อและข้ออักเสบ
  • รักษาโรคต้อกระจกตา: กรดไฮยาลูรอน (HA) เป็นสารหล่อลื่นที่ใช้ระหว่างการผ่าตัดต้อกระจก ช่วยหล่อลื่นและป้องกันเยื่อบุตา กรดไฮยาลูรอนยังถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและลดอาการระคายเคือง
  • ช่วยลดอาการแผลไฟไหม้: กรดไฮยาลูรอน (HA) สามารถช่วยลดอาการแผลไฟไหม้และลดขนาดแผลได้ โดยทา HA ลงบนแผล นอกจากนี้ยังช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการติดเชื้อ และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

การฉีดสารเติมเต็มประเภทไฮยาลูรอน มีผลข้างเคียงไหม ?

การฉีดสารเติมเต็มประเภทไฮยาลูรอน เป็นวิธีการเสริมความงามที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน สารไฮยาลูรอนช่วยลดริ้วรอยร่องลึก เพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง และช่วยปรับรูปหน้า ซึ่งถือว่าเป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่ถึงแม้จะปลอดภัย ก็ยังอาจเกิดผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น รอยแดง อาการบวม ตึง ชา หรือคัน บริเวณที่ฉีด ซึ่งมักจะหายภายใน 2 สัปดาห์

ใบหน้าขาด ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) จะเป็นอย่างไร ?

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เปรียบเสมือนฟองน้ำธรรมชาติที่ทำหน้าที่กักเก็บความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง เมื่ออายุที่เพิ่มมากขึ้น ร่างกายจะผลิตสาร HA ได้น้อยลงหรือสูญเสียสาร HA ตามกาลเวลา ส่งผลให้ผิวหนังสูญเสียความชุ่มชื้น และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ บนใบหน้า ดังนี้

ใบหน้าขาดไฮยาลูรอนจะเป็นอย่างไร
  • ผิวหนังแห้งกร้าน: ผิวหนังบนใบหน้าจะรู้สึกแห้งตึง คัน ระคายเคือง ลอกเป็นขุย และแต่งหน้าไม่ติด 
  • ผิวหมองคล้ำ: ผิวหนังดูซีด ไร้ชีวิตชีวา ไม่สดใส และรูขุมขนกว้าง 
  • ผิวบางลง: ผิวหนังมีความเปราะบาง ช้ำง่าย ระคายเคืองง่าย 
  • เกิดริ้วรอย: ใบหน้ามีริ้วรอยขนาดเล็กชัดเจนขึ้น เช่น รอยร่องลึกใต้ตา รอยร่องแก้ม ผิวหนังหย่อนคล้อย และขาดความยืดหยุ่น 
  • รอยคล้ำใต้ตา: ผิวหนังบริเวณใต้ตาหมองคล้ำ ทำให้ใบหน้าดูไม่สดใส

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) กินได้ไหม ?

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) สามารถรับประทานได้ โดยส่วนใหญ่จะผลิตออกมาในรูปแบบของอาหารเสริม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องด้วยกลุ่มผู้ใช้หลักเป็นกลุ่มเฉพาะเจาะจง เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบที่ต้องรับประทานอาหารเสริมไฮยาลูรอนิกแอซิดวันละ 80-200 มิลลิกรัม เป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อบรรเทาอาการปวดหัวเข่าและข้อติดระดับปานกลาง ทั้งนี้ ผู้ใช้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรับประทานทุกครั้ง

วิธีทดสอบการแพ้ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid)

อย่างที่ทราบกันดีว่า “ไฮยาลูรอน” เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อเลียนแบบสารตามธรรมชาติที่พบในร่างกาย ซึ่งถือว่าเป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย เนื่องจากไฮยาลูรอน (HA) ผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองจาก อย. แต่เพื่อความมั่นใจก่อนการใช้ ควรทดสอบการแพ้ก่อนเสมอ โดยวิธีการทดสอบมีดังนี้

  • ล้างผิวบริเวณท้องแขนด้านในให้สะอาดและเช็ดให้แห้งสนิท
  • ทาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไฮยาลูรอนลงบนท้องแขนด้านใน ขนาดประมาณเหรียญบาท
  • ทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการ

ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) อันตรายไหม ?

ไฮยาลูรอน สารที่หลายคนคงรู้จักและคุ้นเคย โดยเฉพาะผู้ที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ แต่สำหรับบางคนที่ยังไม่รู้จักอาจเกิดความกังวลหรือกลัวอันตราย แต่สารไฮยาลูรอนถือว่าเป็นสารที่ค่อนข้างปลอดภัย สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทั้งนี้ควรเลือกใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการทาบนผิวหนัง การฉีดเข้าสู่ร่างกาย รวมไปถึงการรับประทานสาร HA ในรูปแบบของอาหารเสริม และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดผลข้างเคียง


สุดท้ายนี้ผู้อ่านทุกท่านที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) หรือ HA สามารถทักเข้ามาสอบถามกับ หมอมอส้ม หมอหมอเกรซ และทีมแพทย์ Mudan Pavilion ยินดีให้คำปรึกษาฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย Inbox Facebook หรือ Add Line นี้ได้เลย คุณหมอตอบเองทุกเครส